top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนLocal Connex

ธนบุรีที่เห็นไม่ชัด II : จักรวาลเรืองแสง ที่ปากคลองภาษีเจริญ

อัปเดตเมื่อ 23 ก.ค. 2563


แลนด์มาร์กฝั่งธนแห่งใหม่ที่มองมาจากดาวอังคารก็เห็น ด้วยพระพุทธรูปสีทององค์มหึมาที่กำลังก่อสร้าง จนหลายคนเกิดความสงสัย ว่าที่นั่นคือที่ใด แต่ที่นี่ก็ไม่ใช่สถานที่ใหม่ ทุกคนรู้ พุทธศาสนิกชนรู้ คนญี่ปุ่นก็รู้ เพราะที่นี่คือวัดปากน้ำภาษีเจริญ...



ไปอย่างไรให้ถึงวัด?

การจะไปวัดปากน้ำภาษีเจริญมีหลายวิธี สำหรับคนที่นั่ง BTS มานั้น แนะนำให้ไปลงสถานีวุฒากาศแล้วนั่งวินมอเตอร์ไซต์ต่อ หรือหากลงสถานีตลาดพลูก็สามารถนั่งรถสองแถวสีแดงสายวัดปากน้ำได้เลย ส่วนอีกวิธีที่ชาวญี่ปุ่นนิยมคือการเดินเท้าจากสถานีวุฒากาศ ผ่านวัดนางชีที่ร่มรื่น วัดนาคปรก แล้วออกถนนเดินไปอีกหนึ่งกิโลเมตร นับเป็นการคาร์ดิโอที่ดี

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมวัดแห่งนี้คนญี่ปุ่นชอบมากัน แน่นอนว่าที่นี่เป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินที่ถูกแชร์กันอย่างมหาศาลของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น เพียงเสิร์ชในไอจีด้วยแฮชแท๊ก #watpaknam หน้าจอคุณจะเรืองแสงเป็นสีเขียวขึ้นมาทันที พร้อมๆกับชาวญี่ปุ่นในแอคยืนพนมมือ นั่งพนมมือ

สัมผัสประสบการณ์แบบ Exotic สไตล์ไทย

ภาพจิตรกรรมบนเพดานที่ชาวญี่ปุ่นร้องสุโค้ยนี้ อยู่ที่ชั้น 5 ภายในพระมหาเจดีย์รัชมงคล เป็นผลงานของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ ตัวภาพเล่าเรื่องอนันตจักรวาล แปลเป็นไทยอีกที ก็คือจักรวาลที่ไม่สิ้นสุดตามความเชื่อของพุทธ ลองนึกดูว่ามีจักรวาลอื่นนอกเหนือจักรวาลที่เราอยู่ มีอีทีเพื่อนรัก มีเอเลี่ยน มีจานบิน มีจักรวาลคู่ขนาน จะบันเทิงขนาดไหน

ส่วนขอบจักรวาลอันเคว้งคว้างนั้นเราจะเห็นภาพพระพุทธเจ้าหลายองค์ให้ความรู้สึกว่า Copy Paste....ภาพที่เห็นนี้ไม่ใช่งานดีไซน์เพื่อความสวยงาม แต่กำลังบอกเล่าถึงพระพุทธเจ้าในอดีตอันไกลโพ้น นานแบบยกกำลังอินฟินิตี้ จำนวน 28 พระองค์ ซึ่งพระพุทธเจ้าองค์ที่ใกล้พวกเราสุดคือ พระโคตมพุทธเจ้า ที่มีพระชนม์ชีพเมื่อ 2563 ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่ที่ดูเซอร์ไพร์สกว่าคือจำนวนพระพุทธเจ้าในอดีตไม่ได้มีแค่ 28 พระองค์ แม้แต่ในคัมภีร์ทางศาสนาก็บอกว่า "นับไม่ได้"


หากใครจำพล๊อตเรื่อง Cloud Atlas หนังที่ถ่ายทอดไอเดียการเวียนว่ายตายเกิด ลองแหงนหน้าขึ้นไปมองภาพจิตรกรรมอีกที พระพุทธเจ้าเกือบทุกพระองค์นี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


ยกตัวอย่างเช่น ย้อนกลับไปสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า ในยุคนั้นมีนักบวชนามว่าสุเมธดาบส ได้นอนเหยียดกายลงไปกับพื้นโคลนตมเพื่อเป็นทางเดินให้พระพุทธเจ้าและพระสาวกเหยียบข้ามไป พระทีปังกรพุทธเจ้าจึงทรงพยากรณ์เป็นครั้งแรกว่านักบวชท่านนี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล หลังจากสุเมธดาบสสิ้นชีพไปแล้วเวียนว่ายตายเกิดผ่านยุคพระพุทธเจ้าอีก 23 พระองค์ จึงมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในยุคเรา นามว่า พระโคตมพุทธเจ้า

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงงานเข้า

ในคัมภีร์ทางศาสนายังเคยเล่าเหตุการณ์ความเกี่ยวข้องระหว่างพระพุทธเจ้ายุคเรากับพระพุทธเจ้ายุคอื่นแบบพีคๆอีกว่า เมื่อครั้งที่ท่านเกิดเป็นมานพน้อย เพื่อนของท่านได้ชักชวนให้มาฟังธรรมจากพระกัสสปพุทธเจ้า พอท่านได้ฟังแล้วก็คงติสต์แตกโพล่งขึ้นมาในทำนองที่ว่า ธรรมะของพระองค์ยากโคตรๆใครจะเข้าใจได้ ผลจากการกระทำครั้งนั้นกลับมาเป็นผลกรรมในชาติสุดท้ายของพระองค์ ท่านต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ในการลองผิดลองถูก แสวงหาทางดับทุกข์ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอดอาหารจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด กว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ นับเป็นสถิติที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของการใช้เวลาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเท่าที่เคยบันทึกมา

อันที่จริงวัดปากน้ำภาษีเจริญไม่ได้มีแค่สิ่งสร้างใหม่ให้ได้มาชม วัดแห่งนี้มีความเก่าย้อนกลับไปสมัยอยุธยาตอนกลาง หลักฐานที่สำคัญอยู่ในพระอุโบสถคือพระประธานปูนปั้นพุทธลักษณะละม้ายคล้ายพระมงคลบพิตรที่อยุธยา แต่ด้วยความเป็นปูนปั้นนี่้เองทำให้หลวงพ่อมักมีปัญหาผิวกระเทาะหลุดร่อนออกมาบ่อยครั้ง ทางวัดจึงขออนุญาตกรมศิลปากรทำการบุทองคำบริสุทธิ์ สีทองที่เห็นลุกวาวจึงเป็นทองคำแท้หมดทั้งองค์นั่นเอง

ไม่เพียงแต่วัดปากน้ำที่มีความน่าสนใจ ย่านชุมชนเก่าแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของวัดอัปสรสวรรค์ที่อยู่ติดกัน ซึ่งมีความอันซีนแอบซ่อนอยู่ หลังจากได้เห็นภาพจิตรกรรมพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ที่วัดปากน้ำไปแล้ว ที่วัดอัปสรสวรรค์ยังมีพระประธาน ที่นับรวมกันแล้วได้ถึง 28 องค์ ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ซึ่งอาจเป็นเพียงวัดเดียวในไทยที่มีพระประธานเยอะขนาดนี้ โดยองค์ที่อยู่ด้านหน้าสุดนั้น ก็คือพระโคตมพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าในยุคของเรา

แม้วัดอัปสรสวรรค์จะเป็นวัดขนาดเล็ก แต่ก็เรียกได้ว่าเล็กพริกขี้หนู ใครที่ได้เข้ามาวัดแห่งนี้มักสะดุดตากับหอไตรขนาดเล็กที่ยกพื้นสูงอยู่กลางสระน้ำ การสร้างหอไตรไว้กลางน้ำนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันปลวก มด ที่มุ่งร้ายต่อพระไตรปิฏกที่เก็บรักษาไว้ ที่สำคัญหอไตรแห่งนี้เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาที่งดงามและถูกยกย่องจากวงการสถาปัตยกรรมไทยมากที่สุดแห่งหนึ่ง

ดู 42 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page